เทคนิคการนำเข้าสู่บทเรียน
ก่อนเริ่มเรียนแต่ละวิชาควรมีการเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มเรียน เพื่อให้เด็กเกิดความกระตือรือร้นอยากเรียน กิจกรรมการนำเข้าสู่บทเรียนก็เช่นเดียวกัน เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้นักเรียนได้เตรียมความพร้อม ป้องกันไม่ให้นักเรียนเกิดความเข้าใจในเนื้อหา สับสนกังวลใจ เบื่อหน่ายการเรียน หรือเรียนอย่างไม่มีความสุข
ความหมาย
เทคนิคการนำเข้าสู่บทเรียน หมายถึง กลวิธีต่างๆ ที่ครูใช้ในการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อเตรียมตัวนักเรียนก่อนเริ่มเรียน และก่อนที่ครูจะสอนเนื้อหาทุกวิชาซึ่งเป็นการเตรียมนักเรียนให้รู้ว่ากำลังเรียนเรื่องอะไร สามารถนำเอาความรู้และทักษะที่นักเรียนมีอยู่เดิมมาสัมพันธ์กับบทเรียนที่ครูกำลังจะสอนได้ โดยการหากิจกรรมที่เร้าความสนใจของนักเรียนแล้วเชื่อมโยงไปสู่บทเรียน ซึ่งจะทำให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น
วัตถุประสงค์ของการนำเข้าสู่บทเรียน
การนำเข้าสู่บทเรียนเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ถ้ากิจกรรมนี้ดำเนินไปได้ด้วยดี กิจกรรมการเรียนการสอนอื่นๆ ก็ได้รับผลดีไปด้วย ซึ่งมีอยู่หลายประการ ณรงค์ กาญจนะ (2553, หน้า 10) กล่าวไว้ดังนี้
1. เพื่อเร้าความสนใจของนักเรียนหรือดึงดูดความสนใจให้มาอยู่ที่การเรียนการสอนของครู
2. เป็นการเตรียมนักเรียนให้มีสมาธิในการฟังเรื่องที่ครูจะสอน
3. เพื่อให้นักเรียนรู้ว่าต่อไปจะเรียนเรื่องอะไร
4. เพื่อให้นักเรียนสามารถนำเอาความรู้และทักษะเดิมที่มีอยู่มาสัมพันธ์กับบทเรียนใหม่
5. เพื่อให้นักเรียนเห็นแนวทางในการเรียนรู้
6. ช่วยให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนใหม่ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
วัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้นนี้ เป็นส่วนทำให้นักเรียนเรียนอย่างมีคุณภาพสนใจในการเรียน รวมไปถึงเป็นแนวทางให้ผู้เรียนนำความรู้ที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้กับวิชาที่เรียนอยู่อย่างเหมาะสม
ประโยชน์ของการนำเข้าสู่บทเรียน
ประโยชน์ของการนำเข้าสู่บทเรียนมีผู้กล่าวประโยชน์ว่า (ณรงค์ กาญจนะ 2553, หน้า 12: ทักษะการนำเข้าสู่บทเรียน 2551, ย่อหน้า 1) เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียน และให้นักเรียนเข้าใจจุดมุ่งหมายของบทเรียนที่จะเรียนได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปครูจะใช้เวลาสั้นๆ เพียง 5-10 นาที ก่อนเริ่มการเรียนการสอนเนื้อหา ดังนี้
1. ช่วยให้นักเรียนเกิดความพร้อมในการเรียนรู้
2. ช่วยให้นักเรียนเข้าใจในบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น
3. เป็นสื่อเชื่อมโยงสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูและนักเรียนก่อนการเรียนการสอนในขั้นต่อไป
4. ช่วยให้นักเรียนเชื่อมโยงความรู้เดิมกับเรื่องที่จะเรียนต่อไปได้
5. เป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ ใฝ่รู้ และเรียนด้วยความสนุกสนาน
ดังนั้น การนำเข้าสู่บทเรียนจึงมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับครูผู้สอนทุกรายวิชา เพื่อเร้านักเรียนให้เกิดความสนใจในบทเรียนและเรียนอย่างสนุกสนาน
ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการใช้กิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียน
ในตอนเริ่มต้นของการสอนแต่ละครั้ง ครูควรเริ่มด้วยกิจกรรมการนำเข้าสู่บทเรียน ซึ่งมีทักษะการนำเข้าสู่บทเรียน ดังนี้
1. ใช้เมื่อจะเริ่มต้นบทเรียน หรือเริ่มเรื่องใหม่
2. ใช้นำเมื่อจะใช้สื่อการเรียนการสอน
3. ใช้เพื่อเตรียมการอภิปราย
4. ใช้เพื่อนำการแสดงบทบาท เล่าเรื่อง รายงาน หรือการสาธิตประสงการณ์ของนักเรียนเป็นคณะ
หรือรายบุคคล
5. ใช้เพื่อให้นักเรียนสามารถตามทันเนื้อหาและสามารถเรียนรู้ได้ดี
ช่วงเวลาดังกล่าวมานี้ ทำให้นักเรียนเกิดความพร้อมก่อนเริ่มเรียนแต่ละรายวิชา และทำให้ครูผู้สอนสอนอย่างมีจุดมุ่งหมาย
การเตรียมตัวเพื่อจัดกิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียน
ในการเตรียมกิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียน ครูควรรู้ข้อมูล เทคนิค วิธีการที่สำคัญบางประการ เพื่อใช้ในการเตรียมตัว เพื่อเตรียมความพร้อมและเพื่อให้สามารถดำเนินกิจกรรมให้ได้อย่างดีที่สุด ดังนี้
1. ครูควรรู้ประสบการณ์ หรือความรู้เดิมของนักเรียนเพื่อโยงให้สัมพันธ์กับกิจกรรมนำเข้า สู่บทเรียนและเนื้อหาสาระบทเรียนใหม่
2. ศึกษาเรื่องที่จะสอน แล้วพิจารณาเลือกกิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียนให้ผสมกลมกลืนกัน
3. ศึกษากิจกรรมที่จะนำมาใช้และฝึกฝนหรือเตรียมความพร้อมให้เกิดทักษะความชำนาญและความมั่นใจที่จะนำเสนอ
เทคนิคการนำเข้าสู่บทเรียน
เทคนิคการนำเข้าสู่บทเรียน เป็นสิ่งที่ครูต้องคำนึงถึงและบรรจุลงในแผนการสอน ซึ่งมีอยู่หลายเทคนิคด้วยกัน (ณรงค์ กาญจนะ 2553, หน้า 19: ข้อเสนอแนะสำหรับการฝึกทักษะการนำเข้าสู่บทเรียน 2551, ย่อหน้า 1) ดังต่อไปนี้
1. ใช้อุปกรณ์ที่สัมพันธ์กับบทเรียน เช่น ใช้ของจริง หุ่น รูปภาพ เป็นต้น
2. ให้นักเรียนทำกิจกรรมที่สัมพันธ์กับบทเรียน
3. สนทนาซักถามแล้วเชื่อมโยงไปยังเรื่องที่จะสอน
4. ร้องเพลง หรือเล่นละคร หรือการแสดงบทบาทสมมติ
5. ตั้งปัญหา ทายปัญหา
6. ทบทวนบทเรียนเดิมที่สัมพันธ์กับบทเรียนใหม่
7. เล่านิทาน เล่าเรื่องราว เล่าเหตุการณ์ต่างๆ
8. สาธิต ทดลอง เพื่อนำเข้าสู่เรื่องที่จะสอน เช่น ครูอาจเรียกเด็กหลายคนออกมาสาธิตการไหว้แบบต่างๆ การทำความเคารพ เพื่อเชื่อมโยงเข้ากับการสอนเรื่องวิธีทำความเคารพ เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
ณรงค์ กาญจนะ. (2553). เทคนิคและทักษะการสอนเบื้องต้น. สงขลา: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏ
สงขลา.
ทักษะการนำเข้าสู่บทเรียน. (2551). สืบค้น พฤศจิกายน 27, 2553. จาก :
ข้อเสนอแนะสำหรับการฝึกทักษะการนำเข้าสู่บทเรียน. (2551). สืบค้น พฤศจิกายน 27, 2553. จาก:
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=206931