เทคนิคการเขียนกระดาน
ความหมาย
กระดานดำ เป็นอุปกรณ์ในการเขียนที่สามารถใช้ซ้ำได้ โดยสามารถเขียนอักษรหรือวาดภาพได้โดยใช้ชอล์ก หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่สามารถเขียนแล้วลบได้ กระดานดำในสมัยก่อนทำจากแผ่นหินสีดำหรือสีเทาเข้มที่เรียบและบาง
โดยมีความหมายตามพจนานุกรม ได้ความว่า กระดานขนาดใหญ่ทาสีเข้มเช่น สีดำ สีเขียว สำหรับเขียนอักษรขนาดใหญ่เพื่อให้เห็นได้ชัดเจน มักใช้ในโรงเรียน
โดยมีความหมายตามพจนานุกรม ได้ความว่า กระดานขนาดใหญ่ทาสีเข้มเช่น สีดำ สีเขียว สำหรับเขียนอักษรขนาดใหญ่เพื่อให้เห็นได้ชัดเจน มักใช้ในโรงเรียน
วัตถุประสงค์
การใช้กระดานดำมีวัตถุประสงค์โดยทั่วไปคือ เป็นสื่อที่ส่งเสริมให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนได้ดีขึ้น นอกจากนี้มีวัตถุประสงค์อื่น ๆ ได้แก่
1. ใช้เพื่อประกอบการอธิบาย สรุป และทบทวนบทเรียน
2. ใช้เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความรู้ ความคิดเห็น และศักยภาพด้านอื่น ๆ เช่น การวาดรูปบนกระดาน
3. ใช้เพื่อเสริมการใช้สื่ออุปกรณ์อื่น ๆ เช่น เครื่องแอแลซีดีโปรเจคเตอร์ และเครื่องฉายภาพข้ามศรีษะ เป็นต้น
4. ใช้เพื่อประกอบการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในชั้นเรียน เช่น การเล่นเกม ติดภาพเป็นต้น
ประโยชน์ของกระดานดำ
กระดานดำมีประโยชน์ดังนี้
1. ใช้ประกอบการสอน การอธิบาย การทดสอบ สรุป และทบทวนบทเรียน
2. ใช้ร่วมกับโสตทัศนวัสดุอื่นๆ ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น
3. ใช้แสดงข้อเท็จจริง แนวคิด และกระบวนการต่างๆ
4. ใช้แสดงศัพท์ใหม่ๆ คำจำกัดความ กฎ และคำนิยามให้ผู้เรียนเข้าใจได้ดี เหมาะต่อการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ร่วมกิจกรรมในการสาธิตและอธิบายเนื้อหาวิชาแก่ เพื่อร่วมชั้น
คุณสมบัติเด่นของกระดานดำ
กระดานดำมีคุณสมบัติที่เด่นหลายประการ ดังนี้
1. สามารถใช้ได้ทุกเวลาและทุกโอกาส
2. ไม่ชำรุดเสียหายได้ง่าย
3. ผู้เรียนสามารถมองเห็นพร้อมๆ กันได้ทั้งชั้น
4. เขียนและลบได้ง่าย
5. นำเสนอข้อคิดใหม่ได้ทันที
6. ใช้ได้ทั้งครูและนักเรียน
ความจำเป็นของการเขียนกระดานสำหรับการสอนของครู
กระดานดำเป็นที่สำหรับบันทึกข้อความสำคัญที่ครูสอน รวมทั้งความรู้ของนักเรียน และเป็นจุดรวมความสนใจของนักเรียนทั้งห้อง การเขียนกระดานดำให้ถูกต้องตามอักขรวิธีของการเขียนและการสะกด เขียนให้อยู่ในแนวระดับและเขียนให้เป็นไปโดยลำดับอย่างมีระเบียบแม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องที่ทำได้โดยง่าย แต่โดยความจริงครูที่ไม่เคยฝึกเขียนกระดานดำและขาดทักษะในการเขียนกระดานดำมักไม่สามารถเขียนกระดานดำให้มีลักษณะดังกล่าวข้างต้นได้ ฉะนั้น ครูต้องฝึกฝนให้เกิดทักษะความชำนาญเพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีและเป็นแบบบอย่างที่ดีให้กับนักเรียนในเรื่องการเขียนตัวอักษรและการใช้กระดานดำ
ทักษะการใช้กระดานดำ
กระดานดำหรือกระดานชอล์ก เป็นสื่อการสอนที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการสอนในทุกระดับชั้น โดยเฉพาะในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ห้องเรียนยังจำเป็นต้องมีกระดานดำ แม้ว่าเทคโนโลยีทางการสอน นวัตกรรมทางการศึกษาจะพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างไรก็ตาม ผู้สอนก็ยังจำเป็นต้องใช้กระดานดำประกอบการสอนอยู่เสมอ ทักษะการใช้กระดานดำจึงจำเป็นสำหรับครูผู้สอน ครูที่มีประสิทธิภาพจะมีความสามารถในการใช้กระดานดำช่วยสื่อความหมาย และเสริมความเข้าใจในบทเรียนให้แก่ผู้เรียนได้อย่างดี ผู้สอนจึงต้องใช้กระดานดำให้ถูกต้องตามหลักการ และใช้ให้คุ้มค่า โดยอาจใช้วาดภาพใช้ติดตามแผนภูมิ ใช้ฝึกการเขียนของผู้เรียน ฯลฯ เป็นต้น
หลักการใช้กระดานดำ
การใช้กระดานดำต้องใช้อย่างมีหลักการ ดังนี้
1. เลือกเขียนเฉพาะหัวข้อและใจความสำคัญ ไม่ควรเขียนให้มากและแน่นเกินไป
2. กระดานดำที่มีความยาวมากๆ ควรขีดเส้นแบ่งเป็นสองหรือสามส่วนตามความเหมาะสม
3. ควรเริ่มเขียนจากด้านบนซ้ายของกระดานดำไปทางขวา
4. สิ่งที่เขียนหรือหแสดงบนกระดานดำ ควรเป็นข้อความสั้นๆ กะทัดรัดและเข้าใจง่าย
5. ตัวอักษรควรใหญ่พอที่นักเรียนจะมาองเห็นได้ชัดเจนทั้งชั้น และควรเน้นจุดสำคัญโดยการใช้ชอล์กสีหรือการขีดเส้นใต้
6. เมื่อเขียนกระดานดำเสร็จทุกครั้ง ควรตรวจสอบข้อความที่เขียนบนกระดาน ถ้าเขียนผิดครูควรแก้ไขก่อน ซึ่งทำให้นักเรียนได้รับความรู้ที่ถูกต้อง
7. ขณะที่อธิบายเรื่องราวบนกระดาน ไม่ควรยืนบังข้อความที่ครูเขียนไว้ ครูควรยืนห่างจากกระดานเล็กน้อย และใช้ไม้ชี้
8. การใช้กระดานดำแต่ละครั้ง ควรได้เตรียมการมาล่วงหน้าว่า จะเขียนข้อความหรือรูปอะไรบ้าง
9. การเขียนรูปทางคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ที่จ้องการความถูกต้องแน่นอน ควรใช้เครื่องมือช่วยในการเขียน จะทำให้ถูกต้องและรวดเร็วขึ้น
10.การลบกระดานที่ถูกวิธีต้องลบจากซ้ายไปขวา และจากบนลงล่าง
ข้อควรคำนึงในการใช้กระดานดำ
ผู้สอนควรคำนึงถึงข้อต่อไปนี้ในการใช้กระดานดำ
1. ขอบล่างของกระดานดำควรอยู่ในระดับสายตาของผู้ดู
2. ที่นั่งของผู้ดูควรอยู่ในอาณาเขต 60 องศา วัดจากกึ่งกลางของกระดาน
3. คนที่นั่งหน้าชั้นควรอยู่ห่างจากกระดาน 3 เมตร เป็นอย่างน้อย
4. มีแสงสว่างที่กระดานดำเพียงพอที่จะทำให้นักเรียนเห็นได้อย่างชัดเจน
5. คำนึงถึงการสะท้อนแสงทีมากระทบกระดานดำ ทำให้นักเรียนบางคนเห็นข้อความไม่ชัดเจน อาจต้องปิดหน้าต่างหรือปิดประตูบางบาน
6. เขียนกระดานดำอย่างเป็นระเบียบ เขียนตัวหนังสือให้มีหัว อ่านง่าย และชัดเจน
7 ไม่ควรเขียนกระดานดำนานเกินไป ทำให้เสียเวลา และเสียความเป็นระเบียบวินัยของห้อง
แหล่งที่มา : - ณรงค์ กาญจนะ. (2553). เทคนิคและทักษะการสอนเบื้องต้น เล่ม 1. กรุงเทพฯ : จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์.
- สืบค้น : http://file.siam2web.com/teaching402rru/2009719_70594.doc. (04 ธันวาคม 2553).
- สืบค้น : http://th.wikipedia.org/wiki. (04 ธันวาคม 2553).